วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551

สารพันคำถามเรื่อง แกสกับรถ ..บทความจากนิตยสารFORMULA




-เรื่องที่ไม่ใข่เรื่องใหม่ แต่ยังมีหลายคนที่ยังค้างคาใจและลังเลใจในเรื่องนี้อยู่ จากนิตยสารFORMULAฉบับราวๆปลายปีพ.ศ.2549 ผู้เขียนคือ เจษฎา ตัณทเศรษฐี

เจษฎา, JESSADA@AUTOINFO.CO.TH สารพันคำถามเรื่อง "แกสกับรถ"

-คำถามของผู้ใช้รถ ที่ผมได้รับจากการพบปะสนทนาด้วย เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องเกี่ยวกับเชื้อเพลิงทดแทน โดยเฉพาะเชื้อเพลิงแกส ที่ใช้แล้วสามารถช่วยลดค่าเชื้อเพลิงลงได้อย่างมาก ผมลองรวบรวมคำถามเกี่ยวกับการใช้แกสเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนรถยนต์ ในส่วนที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้รถ โดยไม่เรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้
-1. ความคุ้ม และควรใช้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับระยะทางที่ขับโดยเฉลี่ยในแต่ละวัน หรือแต่ละเดือน หรือในหนึ่งปี ไม่ต้องคำนวณให้เสียเวลาครับ แค่ดูว่าจ่ายค่าเชื้อเพลิงเบนซินเดือนละเท่าไร ถ้าใช้ แอล พี จี เป็นเชื้อเพลิง ก็จะต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงประมาณ 40 ถึง 50% ของค่าเบนซิน ถ้าใช้ ซีเอนจี หรือแกสธรรมชาติ ที่หน่วยงานของรัฐยังเรียกกันผิดว่า เอนจีวี ก็ประมาณ 30 % เช่น ค่าเบนซิน เดือนละ 6,000 บาท ถ้าใช้ แอลพีจี ก็จะประหยัดได้ 50 ถึง 60 % คือ 3,000-3,600 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของระบบดัดแปลงใช้แกส ถ้าใช้ ซีเอนจี ก็จะประหยัดได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 70 % หรือ 4 พันบาทเศษ คราวนี้อยากทราบว่า ใช้ไปนานแค่ไหนถึงจะคุ้มค่าชุดดัดแปลงใช้แกส ก็เอาราคาชุดดัดแปลงตั้ง หารด้วยส่วนที่ประหยัดได้ ก็จะทราบทันทีว่าจะคุ้มทุนภายในกี่เดือน เช่น ประหยัดได้เดือนละ 5,000 บาท ชุดดัดแปลงราคา 50,000 บาท แค่ 10 เดือน ก็คุ้มแล้วครับ แต่ในความเป็นจริง ความรู้สึกของเราจะดีกว่านี้ เพราะเมื่อจ่ายค่าชุดดัดแปลงใช้แกสไปแล้ว เหมือนเราซื้อของอะไรที่ถูกใจไปโดยคิดว่าถ้าไม่ใช้กับสิ่งนี้ ก็จะเอาไปใช้อย่างอื่นที่ไม่เป็นประโยชน์อยู่ดี เราก็จะรู้สึกว่าได้เริ่มประหยัดค่าเชื้อเพลิงทันที การจ่ายค่าแกส 500 กว่าบาทแทนค่าเบนซิน 1,500 บาท ให้ความรู้สึกที่ดีอย่างบอกไม่ถูก ทุกครั้งที่ออกจากปั๊มแกสครับ
-2. ใช้ แอลพีจี หรือ ซีเอนจี นอกจากดูความประหยัด ซึ่ง ซีเอนจี ได้เปรียบกว่าที่ราคาขายต่อกิโลกรัม ถูกกว่าแล้ว ต้องดูว่าใช้รถวันละกี่ กม. ครับ และมีปั๊ม ซีเอนจี อยู่ใกล้บ้าน หรือบนเส้นทางที่ใช้ประจำหรือไม่ เพราะถังของ ซีเอนจี ซึ่งอยู่ในสภาพแกสจุได้ราว 15 กก. ใช้งานได้ราวๆ 150 ถึงเกือบ 200 กม. เท่านั้น เรื่องระยะทางที่ขับได้ต่อการเติมหนึ่งครั้งนี้ ไม่ใช่จะมาคูณหารกันด้วยเครื่องคิดเลขนะครับ เพราะเราไม่สามารถขับจนหมดเกลี้ยงได้ มันมีผลทางจิตใจด้วย ถ้ามาตรวัดบอกว่าเหลือน้อย หรือ เกือบหมด เราก็จะเริ่มกังวลใจ และรีบหาที่เติมแล้ว ถ้าตรวจสอบตำแหน่งปั้ม ซีเอนจี และขับวันละไม่มาก อยู่ในระดับที่ไม่มีปัญหาในการหาปั้มแล้วละก็ขอแนะนำให้เลือกใช้ ซีเอนจี หรือแกสธรรมชาติครับ เพราะถูกกว่า แต่ชุดดัดแปลงใช้แกสธรรมชาติ จะมีแต่แบบที่ดี เพราะเป็นของใหม่สำหรับเมืองไทย ไม่เคยถูกใช้โดยแทกซี ราคาจึงค่อนข้างสูง ระยะเวลาคุ้มทุนอาจเกือบถึง 2 ปี ซึ่งก็ไม่ถือว่านานครับ แต่คนที่โชคดี อยู่ในเงื่อนไขที่ใช้แกสธรรมชาติได้สะดวก มีน้อยมาก จากประสบการณ์ของผม ไม่ถึง 10 % ที่เหลืออีกกว่า 90 % ก็เลยเลือก แอล พีจี ที่หาปั๊มเติมได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะเมื่อพ้น กทม. ไปแล้ว
-3. จะเลือกใช้ชุดดัดแปลงแบบไหนดี ? พวกที่เลือกใช้แกสธรรมชาติ คงไม่ต้องคิดมาก เพราะชุดดัดแปลง เป็นรุ่นใหม่ ทันสมัย แบบหัวฉีด ควบคุมด้วยอีเลคทรอนิคส์ ที่ทั้งทนทาน ประหยัด และ ปลอดภัย ถึงราคาจะสูงหน่อย แต่ ปตท. ก็มีเงินสนับสนุนลดค่าใช้จ่ายให้คันละ 10,000 บาท ซึ่งก็หวังว่าพอประชาชนเริ่มหันมาสนใจแล้ว จะไม่ "เบี้ยว" ยกเลิกไปเสียก่อนนะครับ ผู้ที่ตัดสินใจใช้ แอลพีจี หรือ แกสหุงต้ม และได้ข้อมูลโดยวิธี "ฟังมา" ก็อาจจะมึนหนักหน่อย เพราะมีหลายระดับและหลายประเภทมาก ในทางเทคนิค แบ่งตามการจ่ายแกสเข้าสู่กระบอกสูบ มีแบบใช้หัวจ่ายแบบคอคอด หรือ เวนทูรี หลักการเดียวกับคาร์บูเรเตอร์ เพื่อให้ได้ความเข้มของส่วนผสมระหว่างแกสกับอากาศค่อนข้างคงที่ ส่วนนี้เรียกว่า มิกเซอร์ หรือที่ช่างซ่อมรถไทยเรียกว่า "หัวดูด" อีกแบบ คือ ใช้หัวฉีด ปล่อยแกสเข้าสู่ท่อไอดีในตำแหน่งที่ใกล้กับฝาสูบ ซึ่งก็คือ ใกล้กับหัวฉีดน้ำมันเบนซินนั่นเอง ปริมาณแกสที่จ่ายถูกควบคุมด้วยอีเลคทรอนิคส์หรือ อีซียู โดยรับข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆของระบบหัวฉีดเบนซินของรถ ระบบนี้จะจ่ายแกสได้แม่นยำ และคงที่อยู่นานเป็นปี ไม่ต้องปรับตั้งกันบ่อยเหมือนแบบมิกเซอร์ การจ่ายแกสอย่างถูกต้องตลอดเวลา ทำให้เครื่องยนต์มีกำลังแทบไม่แตกต่างจากตอนใช้เบนซินและประหยัดแกสกว่าแบบมิกเซอร์ด้วย
-คำถามยอดนิยม รองลงมาจากความคุ้ม ก็คือ คำถามเรื่องความปลอดภัย ชุดดัดแปลงใช้แกส ที่เป็นชุดใหม่ (ไม่ใช่ของใช้แล้ว หรือใช้แล้วเอามาขัดและพ่นสีตบตาให้ดูเหมือนของใหม่) ให้ความปลอดภัยมากครับ ผมว่าความปลอดภัยมากกว่าระบบใช้เบนซินของรถด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นชุดที่ใช้แกสธรรมชาติหรือแกสหุงต้ม เมื่อใดที่มีการรั่วในอัตราสูง เช่น จากอุบัติเหตุ วาล์วควบคุมจะปิดไม่ให้แกสไหลออกจากถังโดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นการรั่วซึม แกสจะฟุ้งกระจายไปในอากาศ จึงมีโอกาสที่จะเกิดความเข้มพอเหมาะ แต่การติดไฟน้อยกว่าไอของเบนซิน ซึ่งเวลารั่วอาจจะพุ่งเป็นฝอย หรือไหลลาม หรือหยดไปโดนจุดที่มีความร้อนสูงได้ง่ายกว่า
-ตำแหน่งติดตั้งถังแกส คือ ด้านท้ายของรถ ถ้าเป็นรถเก๋งทั่วไป แบบมีที่ใส่สัมภาระแยกต่างหากจากห้องโดยสาร ก็ควรติดตั้งให้เหลือที่ใส่สัมภาระให้มากที่สุด ซึ่งก็คือให้ถังอยู่ใกล้พนักพิงของผู้โดยสารแถวหลังให้มากที่สุด ถ้าเป็นแบบตรวจการณ์ก็เช่นเดียวกันครับ ถ้าใช้ของดี ติดตั้งถูกต้องตามหลักวิชา ไม่มีปัญหาครับ ขาที่ยึดถังต้องออกแบบให้แข็งแรงเพียงพอ ดีกว่าเอาไปไว้ใต้ท้องรถ ผมเห็นบางรายติดตั้งกับรถที่ท้องรถค่อนข้างสูง แต่ติดแล้วส่วนล่างของถังก็ยังห้อยต่ำ และที่สำคัญ คือ "เปลือง" อยู่ ถ้าโชคร้ายไปขับคร่อมหิน หรืออะไรที่แข็งมากๆ ถังก็อาจจะถูกกระแทกจนแตกได้ อยู่ด้านบนปลอดภัยกว่าครับ
-การตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยนี่ ต้องมีขอบเขตครับ เพราะทุกอย่างล้วนมีข้อจำกัด ไม่ใช่ว่าระบบที่ดีจะปลอดภัยไปหมด โดยไม่มีข้อจำกัด รถหรูหราที่มีอุปกรณ์ลดอันตรายระดับสุดยอดทั้งชุด ตึงเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัยสิบกว่าลูกรอบคัน ก็ไม่สามารถรักษาชีวิตเราได้ ถ้าอุบัติเหตุรุนแรงถึงระดับหนึ่ง เช่น ขับชนต้นไม้ใหญ่ หรือแท่งคอนกรีทตันขนาดใหญ่ ที่ความเร็วแค่ 120 กม./ชม. ก็ไม่รอดแล้วครับ เหมือนเฮลิคอพเตอร์ทันสมัยสุดยอดแค่ไหน ถ้าเครื่องยนต์ขัดข้อง หยุดทำงานกะทันหัน ก็ตายอย่างเดียว ถ้าถามหาความปลอดภัยจากอะไร ต้องให้สมเหตุสมผลด้วยครับ
-ราคาของชุดใช้แกส ก็เป็นเรื่องใหญ่ของผู้ที่สนใจ เรื่องราคานี่ไม่เฉพาะกับชุดใช้แกสนะครับ แต่กับสินค้าทุกอย่างเลย ที่คนไทยเรายังไม่เข้าใจวิธีคิด และวิธีเปรียบเทียบ เท่าที่ผมประสบมาหลายสิบปีในชีวิตการทำงาน พวกเราส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีพิจารณาเปรียบเทียบ ส่วนใหญ่ถามกันแต่ตัวเลขเท่านั้น โดยไม่ให้ความสำคัญว่าจะได้อะไรเมื่อเอาเงินเท่านั้นไปแลก
-ผมขอยกตัวอย่างของจริงที่ทุกคนเห็นภาพได้ทันทีก็แล้วกันนะครับ ผมเคยไปซื้อข้าวมันไก่ข้างถนนแถวซอยทองหล่อ คนขายมันหยิบไก่ชิ้นเล็กนิดเดียว แล้วใช้ข้างมีดฟาดจนแผ่บาน บางเฉียบ หนากว่ากระดาษปกหนังสือนิดเดียว แล้วขายห่อละ 40 บาท แบบนี้ผมถือว่าแพงเกินเหตุแบบเจตนาเอาเปรียบ แต่ถ้าผมไปสั่งมักกะโรนีผัดในร้านที่ตกแต่งอย่างดี ใช้วัตถุดิบดีเยี่ยม บางอย่างนำเข้าจากต่างประเทศ พ่อครัวจบหลักสูตรชั้นสูงด้านปรุงอาหารมา ถ้าคิดราคา 200 บาท ผมก็ว่าสมเหตุสมผล ไม่แพงแน่นอน

-ผมจะลองยกตัวอย่างแบบหยาบๆ ของราคาชุดแกสระดับต่างๆ ให้ดู พอให้เห็นภาพ และเกิดความรู้สึกมั่นใจ แต่อย่าเอาไปใช้เป็นมาตรฐานนะครับ ขอยกตัวอย่างเฉพาะของรถที่ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ ถ้าเป็น 5, 6 หรือ 8 สูบ ราคาก็จะสูงกว่าเป็นธรรมดา ผมจะไล่ตั้งแต่ราคาระดับล่างสุด คือ เป็นของใช้แล้วทั้งชุด ไม่ว่าจะเป็นถังแกส หม้อต้ม วาล์วต่างๆ ราคาก็เกือบหมื่น ถึงหมื่นเศษ ถัดมาก็จะเป็นแบบถังแกสใหม่เอี่ยมจริง ท่อต่างๆใหม่บ้างเก่าบ้าง หม้อต้มใช้แล้ว ซึ่งมีทั้งแบบที่คนขายยอมรับ กับแบบที่แอบเอามาขัด ซ่อมแซมให้พอใช้ได้ แล้วพ่นสีให้คนที่ไม่รู้เรื่อง มองดูแล้วนึกว่าของใหม่ ชุดแบบนี้ก็จะตกราวๆ หมื่นห้า ถึงเกือบสองหมื่น แล้วแต่ว่าลูกค้าจะ "หมู" แค่ไหน
-พวกนี้คงไม่ต้องบอกนะครับ ว่าเป็นแบบมิกเซอร์ หรือ "หัวดูด" สำหรับผู้อ่านระดับอ่านหนังสือของเรา ผมขอแนะนำว่า อยู่ให้ห่างจากของพวกนี้ครับ ไม่ใช่เรื่องดูถูกฐานะใคร มันเป็นเรื่องของความคุ้ม ความสบายใจไร้ปัญหา และความปลอดภัย อย่าหลงประเด็นครับ งบประมาณไม่พอ ไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องยอมเสี่ยงกับของคุณภาพต่ำเหล่านี้ กู้ยืมจากใครมาเพิ่มให้พอซื้อชุดใหม่ก็ได้ครับ หรือถ้าไม่มีใครให้ก็รอสะสมเงินจนพอ เท่านั้นเอง
-ระดับถัดไปนี้ คือ ระดับที่ผมแนะนำให้ใช้ เริ่มจากแบบมิกเซอร์ที่เป็นของใหม่ทั้งชุด พร้อมถังใหม่ ถังแกสหุงต้ม หรือแอลพีจี เป็นถังที่ประเทศไทยผลิตได้เอง จึงไม่มีใครนำเข้าจากต่างประเทศ คุณภาพสูงพอครับ ถ้ามีมาตรฐาน มอก. ของเรารับรอง ส่วนชุดใช้แกสมีแหล่งผลิตหลายแห่งด้วยกัน เช่น จีน ตุรกี เกาหลี และบางประเทศในยุโรป ส่วนใหญ่มาจาก อิตาลี หรือเป็นบริษัท อิตาลี ที่ผลิตนอกประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ก็มี ถ้าไม่ได้ผลิตจากยุโรปโดยตรง ต้นทุนจะต่ำหน่อย ราคาทั้งชุดรวมถังแกส ก็จะอยู่ที่เกือบสองหมื่นถึงเกือบสามหมื่น ของเกาหลีบางบแรนด์ก็ดีไม่แพ้ของยุโรปนะครับ อย่าเปรียบเทียบแต่ราคา ต้องดูคุณภาพของ คุณภาพและฝีมือของผู้ติดตั้ง รวมทั้งความรับผิดชอบ และเงื่อนไขการรับประกันคุณภาพด้วย
-ถัดมา คือ ชุดใช้แกส ที่เป็นแบบหัวฉีด ควบคุมด้วยระบบอีเลคทรอนิคส์ ซึ่งในความเห็นของผม เป็นแบบที่น่าใช้ที่สุด ราคาจะอยู่ที่สี่หมื่นกว่า ถึงเกือบห้าหมื่นครับ ระบบนี้จะจ่ายแกสได้แม่นยำ ตามความต้องการของเครื่องยนต์ ในแต่ละสภาพการใช้งาน เพราะใช้ข้อมูลจากระบบควบคุมเครื่องยนต์มาประกอบจ่ายแกสด้วย ความประหยัดจึงดีกว่าแบบมิกเซอร์ และที่สำคัญไม่คลาดเคลื่อนบ่อย จึงไม่ต้องปรับตั้งบ่อยเหมือนแบบมิกเซอร์ ถ้าขับเฉลี่ยระยะทางวันละ 100 กม. ก็จะประหยัดค่าเชื้อเพลิง สำหรับรถขนาดประมาณ 2,000 ซีซี ได้ กม.ละ ราว 2 บาท เช่น ใช้เบนซินในราคา กม. ละ 3.30 บาท ก็จะเหลือเพียง กม. ละ 1.30 บาท เมื่อใช้แกสหุงต้ม ค่าเชื้อเพลิงจะลดลงราวๆ เกือบ 6,000 บาท/เดือน ถ้าชุดแกสราคา 48,000 บาท ก็จะคุ้มทุนในเวลาแค่ 8 ถึง 9 เดือน เท่านั้นครับ
-อีกเรื่องที่เข้าผิดกันมากก็คือ ราคาของชุดใช้แกสแบบหัวฉีด สำหรับเครื่องยนต์เกิน 4 สูบ เช่น 6 หรือ 8 สูบ ที่ย่อมต้องสูงกว่า เพราะมีจำนวนหัวฉีดเพิ่มขึ้น หม้อต้มใหญ่ขึ้น เช่น ชุดละเกือบหกหมื่นบาท สำหรับเครื่อง 6 สูบ ที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็น 6 หรือ 8 สูบ ระยะเวลาที่คุ้มทุนก็จะไม่แตกต่างจากของ 4 สูบ หรอกครับ เพราะมันก็มักจะกินน้ำมันมากกว่า เป็นสัดส่วนพอๆ กับราคาชุดใช้แกสนั่นเองครับ จำนวนเงินค่าเชื้อเพลิงที่ประหยัดได้ จึงมากขึ้นตามส่วนเหมือนกัน ถ้าชุดใช้แกสสำหรับเครื่อง 8 สูบ ชุดละเกือบ 8 หมื่นบาท แล้วขับวันละ 100 กม. ผมว่าก็จะคุ้มทุนภายในไม่ถึงปีเหมือนกัน เพราะรถนี้ก็จะกินน้ำมันเกือบสองเท่าของรถ 4 สูบ ในตัวอย่างของเรา
-ใช้ถังจุเท่าใด ?
-ถ้าเป็นแกสธรรมชาติคงไม่มีให้เลือกมากครับ เพราะแค่จุแกสราวๆ 15 กก. น้ำหนักถังเปล่าก็ 80 กก. เข้าไปแล้ว ถ้าเป็นแกสหุงต้มหรือ แอลพีจี ที่อยู่ในถังและในสถานีบริการในสภาพของเหลว มีขนาดความจุของถังให้เลือกค่อนข้างมาก ตั่งแต่ 50 กว่าลิตรไปจนถึง 100 ลิตร เพราะความดันของแกสหุงต้ม ค่อนข้างต่ำ จึงใช้เหล็กไม่ต้องหนามาก น้ำหนักของถังจึงไม่มากถึงระดับที่เราต้องกังวล เพราะฉะนั้น เน้นความสะดวกและประหยัดเวลาครับ นั่นคือ เลือกความจุมากๆ ไว้ก่อน เท่าที่เนื้อที่ของรถจะอำนวย ถ้าเป็นรถเก๋งขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเครื่องยนต์ก็จะใหญ่ตาม ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงก็มากตาม และโชคดีที่เนื้อที่ก็มีมากขึ้นด้วย ใช้ขนาดความจุ 90 ถึง 100 ลิตรครับ ความจุของถังที่มาจากแต่ละโรงงาน จะไม่เท่ากันตายตัว เช่นโรงงาน ก. มีถัง 95 ลิตร โรงงาน ข. ทำรุ่นความจุ 100 ลิตร เป็นต้น เลือกความจุมากเข้าไว้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าปั๊มเติมบ่อย เพราะปั๊มแกส แอลพีจี ที่ให้บริการกันอยู่นั้น หาความเจริญตาไม่ได้เลย เพราะเขาเน้นบริการแต่แทกซีมาก่อน ผมว่าธุรกิจปั้มแกส แอลพีจี (หรือ ซีเอนจี ด้วยก็ได้) ที่ทันสมัย สวยงาม สะอาด มีบริการอื่นประกอบด้วย สำหรับ "รถบ้าน" น่าจะเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ เพราะเท่าที่ผมไปลองสำรวจตามปั๊มแกส แอลพีจี ดู บางปั๊ม จำนวนรถบ้านพอๆ กับรถแทกซีนะครับ พวกแทกซีจะเติมกันประมาณ 100 ถึง 200 บาท เท่านั้น ส่วนรถบ้านจะเติมครั้งละ 300 ถึงเกือบ 600 บาท ความจุของถังที่กำหนดไว้เป็นลิตรนั้น ดูได้ที่ตัวเลขบนถังแกสเลย เป็นปริมาตรภายในถังจริงๆ แต่เวลาใช้งาน เราไม่สามารถเติมแกสจนเต็มปรี่ ได้เหมือนเบนซินหรือดีเซล เพราะต้องเหลือปริมาตรไว้ให้แกสขยายตัว เวลาที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น เราจึงเติมแกสได้เพียง 80 ถึง 85 % ของความจุจริงเท่านั้น เช่น ถัง 100 ลิตร จะเติมแกสเหลวได้ 80 ถึง 85 ลิตร ถัง 80 ลิตร ก็เติมได้ประมาณไม่เกิน 65 ลิตร นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ต้องเลือกถังขนาดใหญ่เข้าไว้
-ถ้าเป็นชุดที่ทันสมัย ที่ถังแกสจะมีวาล์วนิรภัยเพื่อหยุดการประจุแกส เมื่อถึงระดับที่เข้าเขตไม่ปลอดภัย แต่ถังยังฝืนเติมต่อ ก็พอได้ครับ ที่ปั๊มก็จะตั้งความดันไว้ ไม่ให้สูงเกินระดับอันตราย ตรงนี้คือความแตกต่างระหว่างการเติมเบนซิน กับการเติมแกสเหลว แอลพีจี เพราะการเติมเบนซิน ควบคุมด้วยปริมาตร คือ เติมได้จนเต็มถึงปากถัง
-ส่วนการเติม แอลพีจี (หรือ ซีเอนจี ก็ตาม) ควบคุมด้วยความดัน ถ้าเราเติมครั้งหนึ่งที่ปั๊มซึ่งตั้งค่าความดันก่อนตัดไว้สูง แกสในถังของรถเราก็จะมีปริมาตรมาก คราวนี้ใช้ไปจนเกือบหมดถังแล้วเข้าไปเติมอีก ปั๊มที่ตั้งค่าความดันไว้ต่ำ แม้จะสั่งเติมเต็มถัง ปริมาตรแกสก็จะน้อยกว่าการเติมครั้งแรก ถ้าเอามาคำนวณความสิ้นเปลือง เราก็จะดีใจว่ารถของเรา "กิน" แกสน้อยดี หรือ ค่อนข้าง "กิน" มาก ถ้าสลับปั๊มในตัวอย่าง เพราะฉะนั้น การวัดความสิ้นเปลืองแกส ต้องใช้ระยะทางให้มากเข้าไว้ครับ เช่น ระยะทางที่ใช้แกสไปสัก 5-6ถัง หรือมากกว่านั้น แล้วค่อยคำนวณ ในเมื่อการเติมแกสได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความดันที่ตั้งไว้ ของวาล์วนิรภัยที่ถังของรถเรา หรือที่ปั๊ม จึงเป็นเรื่องไร้สาระที่จะเขย่าท้ายรถ เพื่อให้แกสเข้าถังได้มากๆ เหมือนที่คนขับแทกซี หรือ พนักงานเติมแกสชอบทำกัน
-อย่าไปเอาอย่างให้กลายเป็นตัวตลกนะครับ คนไทยเราชอบตามอย่างโดยขี้เกียจหเหตุผล แบบเดียวกับการง้างใบปัดน้ำฝนที่ตั้งโด่ ทุกครั้งที่จอดตากแดด ไม่ใช่กิจกรรมของคนใฝ่หาความรู้ที่ถูกต้องอย่างพวกเราครับ

ไม่มีความคิดเห็น: